วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

7. กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)

         http://blog.eduzones.com/jipatar/85921  ได้กล่าวไว้ว่า นอกจากนี้ ผู้วิจัยควรนำเอาสมมติฐานต่างๆ ที่เขียนไว้มารวมกันให้เป็นระบบและมีความเชื่อมโยงกันในลักษณะที่เป็นกรอบแนวความคิดของการศึกษาวิจัยทั้งเรื่อง เช่น จะศึกษาถึง พฤติกรรมสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยของคนงาน อาจต้องแสดง (นิยมทำเป็นแผนภูมิ) ถึงที่มาหรือปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดในพฤติกรรมดังกล่าว หรือในทางกลับกัน ผู้วิจัยอาจกำหนดกรอบแนวความคิดของการวิจัย ซึ่งระบุว่าการวิจัยนี้มีตัวแปรอะไรบ้าง และตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรก่อน แล้วจึงเขียนสมมติฐานที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในลักษณะที่เป็นข้อๆ ในภายหลัง

         สุวิมล ว่องวาณิช(2551: 5) ได้กล่าวไว้ว่า การนำเสนอกรอบความคิดการวิจัย ควรนำเสนอในบทที่ 2 ของรายงานการวิจัย เพราะต้องเสนอกรอบความคิดซึ่งเป็นผลจากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่ที่พบโดยทั่วไป มักจะพบว่ามีการนำเสนอกรอบความคิดของการวิจัยในบทที่ 1 ซึ่งไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอในบทที่ 1 อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านหรือแม้แต่นักวิจัยเองเข้าใจภาพรวมของผลการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้น กรอบความคิดการวิจัยที่นำเสนออาจจะทำให้เกิดความสงสัยในเรื่องของแนวเหตุผลในการกำหนดตัวแปรมาศึกษา เพราะความรู้ที่รองรับยังนำเสนอไม่เพียงพอ

        รัตนะ บัวสนธ์(2552: 79)  ได้กล่าวไว้ว่า กรอบความคิดการวิจัยนั้น ก็คือ กรอบเชิงทฤษฎีที่ลดรูปลงมาเพื่อใช้สำหรับการวิจัยเรื่องนั้นๆนั่นเอง กล่าวคือ ในขณะที่กรอบเชิงทฤษฎีนั้นได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัย หรือความสัมพันธ์ของปัจจัย หรือตัวแปรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับปัจจัย หรือตัวแปรตาม หรือปรากฏการณ์ที่นักวิจัยต้องการศึกษา ซึ่งปัจจัยหรือตัวแปรที่กล่าวนี้มาจากทฤษฎีแนวคิดและผลงานวิจัยต่างๆ แต่เมื่อจะดำเนินงานวิจัยนักวิจัยได้ปรับลดตัวแปรบางตัวลง หรือทำให้ตัวแปรบางตัวคงที่ แล้วปรับกรอบเชิงทฤษฎีใหม่ จะได้เป็นกรอบความคิดการวิจัยเพื่อใช้สำหรับการวิจัยเรื่องนั้นเท่านั้น หากเปลี่ยนเรื่องดำเนินการวิจัยใหม่ โดยใช้กรอบเชิงทฤษฎีอื่นก็ต้องสร้างกรอบความคิดการวิจัยใหม่อีกเช่นกัน

สรุป
        การเขียนกรอบแนวคิดการวิจัยให้ชัดเจน กรอบแนวคิดเป็นความคิดรวบยอดของการวิจัยที่สรุปมาจากแนวคิดทฤษฎี ต้องชี้ให้เห็นว่ามีกรอบที่ศึกษาตัวแปรอะไรบ้าง อะไรเป็นตัวแปรอิสระ อะไรเป็นตัวแปรตาม และจะศึกษาความแตกต่าง หรือความสัมพันธ์ เมื่อเขียนแนวคิดเชิงพรรณาแล้วอาจลองเขียนกรอบแนวคิดการวิจัยให้เป็นรูปธรรมด้วย

เอกสารอ้างอิง
http://blog.eduzones.com/jipatar/85921   เข้าถึงเมื่อ 16 ธันวาคม 2555
สุวิมล ว่องวาณิช.(2552). "เทคนิคการสร้างกรอบความคิดของการวิจัย : ข้อบกพร่องที่พบบ่อย"
            เอกสารประกอบการบรรยายในงาน Thailand Research Expo 2008.
            กรุงเทพมหานคร : ส่วนส่งเสริมและพัฒนาการวิจัย ภารกิจบริหารจัดการผลงานวิจัย
            สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
รัตนะ บัวสนธ์.(2552). ปรัชญาการวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
           แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น